รู้วิธีจดทะเบียน GI ทางลัดเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน

“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง ส้มโอนครชัยศรี”

ชื่อเสียงของสินค้าเหล่านี้ฟังแล้วคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งที่มากับสินค้าหรือธรรมชาติกับมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ (Geographical Indication: GI) ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในปัจจุบันที่จะช่วยให้สินค้าจากชุมชนสามารถขึ้นสู่ห้างและส่งออกไปขายในระดับสากลได้

เนื่องจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นคุณลักษณะเฉพาะที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ผู้เป็นเจ้าของจึงไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ หรือเรียกได้ว่าเป็นสิทธิชุมชน ดังนั้น GI จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือทางการค้ายุคใหม่ หรือ แบรนด์ของชุมชน ที่จะช่วยให้ลูกค้าจดจำและหวนกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ ขณะที่ผู้ประกอบการเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์เท่านั้น ที่มีสิทธิผลิตสินค้าและใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือในการแข่งขันและสร้างความได้เปรียบทางการค้าได้

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คืออะไร?

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ ชื่อ สัญลักษณ์ หรือ สิ่งอื่นใดที่บอกแหล่งผลิตของสินค้า โดยสามารถสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่าสินค้านั้นมีคุณภาพหรือคุณลักษณะพิเศษ แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในแหล่งผลิตอื่น ซึ่งมีองค์ประกอบหรือปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ธรรมชาติกับมนุษย์ในท้องถิ่น โดยธรรมชาติทำหน้าที่สร้างสิ่งแวดล้อมหรือวัตถุดิบให้แก่การผลิต ส่วนมนุษย์ใช้ทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาในการผลิต ทั้งสองปัจจัยจึงก่อให้เกิดสินค้าที่มีคุณภาพหรือคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ สิทธิในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็นสิทธิชุมชน หรือสิทธิของกลุ่มคนที่อยู่ในท้องถิ่นที่ผลิตสินค้า

ขณะเดียวกันยังเป็นการให้ความคุ้มครองชื่อ หรือเครื่องหมายต่างๆ ที่เป็นชื่อเมืองหรือชื่อท้องถิ่น ที่ใช้บนฉลากของสินค้า รวมถึงเป็นการคุ้มครองผู้ผลิตและป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าของสินค้าและเป็นเครื่องมือทางการตลาด รักษามาตรฐานของสินค้า และกระจายรายได้สู่ชนบทอีกด้วย

ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำคัญอย่างไร?

ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นตราของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว หรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว โดยจะต้องมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานและแผนควบคุมตรวจสอบ และปฏิบัติตามคู่มือและแผนควบคุมนั้นแล้ว

การอนุญาตให้ใช้ตราดังกล่าวกับสินค้า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และไม่ให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าว่า เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้หรือไม่ โดยตราสัญลักษณ์นี้จะช่วยบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับแหล่งผลิต ซึ่งจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่น ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และภูมิปัญญาของคนในชุมชน ที่ส่งผลต่อลักษณะพิเศษของสินค้า รวมทั้งสินค้าต้องมีคุณภาพ มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตจากที่อื่น

ทั้งนี้ สินค้าที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ได้ ประกอบด้วย สินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม หรือสินค้าเกษตรแปรรูป

รู้แบบนี้แล้ว ผู้ที่มีความประสงค์จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สามารถดำเนินการได้ดังนี้

  1. จัดประชุมศึกษาความเป็นไปได้

ส่วนราชการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ผลิต รวมกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีความสนใจยื่นจดทะเบียน GI จัดประชุม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรวบรวมข้อมูลขอรับความคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของสินค้า คุณภาพ ลักษณะพิเศษ วิธีการผลิต ความเชื่อมโยงสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ และขอบเขตพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์

ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • ส่วนราชการ คือ หน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น
  • บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล ต้องประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และอยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์นั้น
  • กลุ่มผู้บริโภค หรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

โดยสามารถยื่นคำขอร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ และ/หรือเอกชน

  1. ยื่นคำขอ

หลังจากร่างคำขอ สรุปเนื้อหาและจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน ผู้ที่มีความประสงค์จดทะเบียนให้กรอกแบบ สช.01 ให้ครบถ้วน นำมายื่น ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จังหวัดนนทบุรี หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดยเสียค่าธรรมเนียม 500 บาท

  1. จ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอและประกาศรับรอง

นายทะเบียนทำการตรวจสอบคำขอโดยใช้เวลา 120 วัน หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน จะทำการประกาศโฆษณาอีก 90 วัน ซึ่งหากไม่มีการคัดค้าน จะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อไป

เมื่อสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI และมีการจัดทำระบบควบคุมแล้ว ชุมชนทำการรวบรวมผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย และสมัครขอเข้าร่วมการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ตรวจประเมินขั้นตอนการผลิตของผู้ประกอบการว่าเป็นไปตามทะเบียน คู่มือปฏิบัติงานและแผนควบคุมหรือไม่ หากเป็นไปตามที่ระบุ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย ซึ่งมีอายุ 2 ปี

เพียงเท่านี้สินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียน GI จะได้รับการคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิ์เฉพาะของชุมชนที่ขึ้นทะเบียน นับเป็นอีกเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชุมชน ยกระดับมาตรฐานสินค้าและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของตัวสินค้าให้กับผู้บริโภคได้