หน้าแรก › SME Clinic › นำเข้า-ส่งออก › การส่งออกไทย ปี 2560
เรื่องนี้ประกอบด้วย 0 ข้อความตอบกลับ มี 1 เสียง และอัปเดตครั้งสุดท้ายโดย admin 6 ปี, 11 เดือน มาแล้ว
-
ผู้เขียนข้อความ
-
5 มกราคม 2018 เวลา 22:51 น. #1758
การส่งออกปี 2560 เต็มไปด้วยปัจจัยแห่งความผันผวน โดยเฉพาะแนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกจะผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้เล็กน้อย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทย ทาง SCB SME จึงอยากจะขอนำเสนอแนวโน้มปี 2560 ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
ภาคการส่งออกเป็นกลไกอันดับหนึ่งของเศรษฐกิจไทย ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกในการผลักดันการเติบโตของประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าในภาคเกษตรในระยะแรก ที่ไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลก หรือกระทั่งปัจจุบันที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอุตสาหกรรมควบคู่กับภาคเกษตร ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และปิโตรเคมี เป็นต้น
แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะอุปทานล้นตลาดโลก แต่คาดว่าในปี 2560 สถานการณ์ต่าง ๆ จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการส่งออกของไทยอาจจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 3 ปี
ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC โดย นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ มีมุมมองที่ดีกับเศรษฐกิจในปี 2560 โดยคาดว่า GDP จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.3 % จากภาคการท่องเที่ยวที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การหมดภาระของการผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถยนต์ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเห็นผลชัดเจนในปี 2560
ขณะที่ภาคการส่งออกในปี 2560 จะฟื้นตัวอยู่ที่ 1.5% ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าตามสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค
โดยปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมีอยู่หลายปัจจัย เช่น การลงทุน Mega Projects ของภาครัฐ ระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น การสิ้นสุดของระยะเวลาผ่อนชำระสินเชื่อในโครงการรถคันแรก การเติบโตของการท่องเที่ยว รวมถึงการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน
จะเห็นว่าในปี 2560 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัยผลักดันหลากหลายปัจจัย ขณะที่ภาคการส่งออกก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และ ตลาด New frontiers
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจยุโรป และอเมริกาจะประสบปัญหา แต่การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังขยายตัวในระดับ 7-8% ทุกปี ขณะที่ตลาด New Frontiers ก็ยังมีการขยายตัวของการส่งออกที่ประมาณ 10.5% เช่นกัน
3 ปัจจัยผลักดันส่งออก
การส่งออกที่จะกลับตัวเป็นบวกในปี 2560 นั้น มีปัจจัยรองรับหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียวที่ยังขยายตัวได้ สวนทางกับตลาดหลักอื่น ๆ ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง
- การเติบโตอย่างรวดเร็วของ CLMV มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ยังขยายตัวร้อนแรงต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9.5% ต่อปี สวนทางกับมูลค่าส่งออกรวมของไทยที่หดตัว 3 ปีติดต่อกัน ทำให้ CLMV ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่สำคัญอันดับหนึ่งในการส่งออกของไทยที่พยุงไม่ให้การส่งออกของไทยตกต่ำจนเกินไป
- การเบนเข็มทิศสู่ตลาดใหม่ (New Frontiers*) สร้างโอกาสใหม่ ๆ แก่ผู้ส่งออกไทย แม้ปัจจุบัน มูลค่าส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม New Frontiers จะยังไม่มากนัก แต่จากการที่ภาครัฐกำลังเร่งเปิดความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่ยังมีอยู่อีกมาก ทำให้คาดว่าตลาด New Frontiers น่าจะก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะช่วยชดเชยการซบเซาของตลาดหลักได้ในระดับหนึ่ง
*NewFrontier หมายถึง ทวีปแอฟริกาและกลุ่มประเทศตลาดใหม่กลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกและใต้ อาทิ เคนยา กานา และแทนซาเนีย ซึ่งมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรก็ตามการส่งออกในปี 2560 ยังมีหลายปัจจัยที่น่ากังวล ดังนี้
1. นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งแง่บวกและแง่ลบ
การยกเลิกข้อตกลง TPP ช่วยปิดจุดอ่อนข้อเสียเปรียบของไทยจากการได้แต้มต่อทางภาษีของหลายประเทศคู่แข่งสำคัญที่อยู่ใน TPP โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทยในหลายสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อาหารทะเลกระป๋อง และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะเป็นโอกาส โดยสินค้าส่งออกของไทยที่เคยเป็นคู่แข่งกับจีนในตลาดสหรัฐฯ อาจแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาได้บางส่วน อาทิ ยางล้อรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบของไทยไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อาทิ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น2. Brexit ยังมีความไม่แน่นอน ว่ากระบวนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ประกอบกับการแยกตัวจะออกมาในรูปแบบใด ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นการแยกตัวแบบ Soft Brexit (UK ยังได้รับสิทธิ์ด้านภาษีในการเข้า Single Market ของยุโรปได้เหมือนเดิม) ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาด EU และ UK ไม่มากนัก
3. ปัญหาหนี้ภาคเอกชนและภาคการผลิตส่วนเกินในจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ เหล็กและถ่านหิน ปัจจัยดังกล่าวยังฉุดรั้งให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงต่อเนื่อง
4. อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้น จากการใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกันของประเทศมหาอำนาจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น EU และจีนยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุปแล้ว การส่งออกในปี 2560 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ๆ ขณะที่ตลาด CLMV ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการขยายตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าว ตามทิศทางการเติบโตของตลาดโลก
Cr: Scbsme -
ผู้เขียนข้อความ
คุณต้องเข้าสู่ระบบเพื่อตอบกลับเรื่องนี้