คนค้าขายต้องรู้! 4 ขั้นตอน ยื่นขอใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน

แน่นอนว่า “เครื่องบันทึกการเก็บเงิน” เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญของผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านขายเสื้อผ้า โดยเฉพาะกับธุรกิจค้าปลีก ที่เครื่องนี้กลายเป็นผู้ช่วยตั้งแต่เก็บเงิน คิดเงินตามรายการสินค้าที่ขายไป และยังช่วยประมวลรายรับ รายจ่ายในแต่ละวัน ทำให้เห็นผลประกอบการได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ที่สำคัญ ยังสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งสะดวกต่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย

โดยเฉพาะการออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการขายสินค้าไปในกลุ่มหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทห้างร้านทั้งหลายได้ นอกเหนือจากผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนบริษัทให้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องรู้คือ ต้องทำการยื่นคำร้องขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินก่อน โดยสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

  1. ยื่นคำขอและเอกสารแนบ

ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอและเอกสารแนบ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่น ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่สํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ หรือ ยื่น ณ สํานักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ

กรณีเป็นผู้ประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของสํานักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีเอกสาร ดังนี้

1.1 คําขอ ภ.พ.06 แยกเป็นรายสถานประกอบการ (คำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.06))

1.2 คุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน และแผนผังการต่อเชื่อมเครื่องบันทึกการเก็บเงินกับอุปกรณ์อื่นๆ

1.3 ตัวอย่างใบกำกับภาษีและรายงานต่างๆ ที่ออกจากเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

1.4 แผนผังการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ณ สถานประกอบการ

  1. กรมสรรพากรพิจารณาคำขอ

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบคำขอและเอกสารแนบ โดยจะมีการตรวจคุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ตัวอย่างใบกำกับภาษี และรายงานต่างๆ หากถูกต้องครบถ้วน กรมสรรพากรจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอ พร้อมทั้งแจ้งเลขรหัสประจําเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

  1. ติดตั้งเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

มาถึงขั้นตอนนี้ ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการให้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน บันทึกเลขรหัสประจำเครื่องที่กรมสรรพากรกำหนดในใบกำกับภาษี สำเนาใบกำกับภาษี และในทุกๆ จุดที่กรมสรรพากรระบุให้ปฏิบัติ

  1. แจ้งกรมสรรพากรให้มาติดแถบสติ๊กเกอร์

หลังจากระบุเลขรหัสไว้ตามจุดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่สถานประกอบการได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตั้งอยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการติดแถบสติ๊กเกอร์ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงินและติดแถบสติ๊กเกอร์เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการ เท่านี้เครื่องบันทึกการเก็บเงินของร้านคุณ ก็สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้อย่างถูกต้องแล้ว