รู้ขั้นตอน! เปิดโรงงานผลิตอาหาร ต้องทำอะไรบ้าง?

สำหรับหลายคนที่มีความคิดอยากจะเริ่มต้นทำโรงงานผลิตอาหาร เพราะมองเห็นโอกาสที่เปิดกว้างในตลาดนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี? และมองว่าการทำโรงงานผลิตอะไรสักอย่าง น่าจะมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีการเตรียมตัวให้พร้อมและศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้ ก็จะช่วยลดความยุ่งยากลงได้ ดังนั้น ลองมาดูกันว่า ถ้าอยากจะเปิดโรงงานผลิตอาหาร คุณควรต้องทำอย่างไรบ้าง?

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้ก่อน คือ ในการทำโรงงานผลิตอาหาร จะมี 2 ประเด็นหลักๆ ที่ต้องดำเนินการ นั่นคือ การขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร และการขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อขอรับเลขสารบบอาหาร

ตั้งโรงงานผลิตอาหาร…ต้องทำอย่างไร?

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการตั้งโรงงานผลิตอาหาร ควรรู้ก่อนว่า สถานที่ผลิตอาหารนั้นๆ เข้าข่ายโรงงานหรือไม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 บอกไว้ว่า สถานที่ผลิตอาหารที่เข้าข่ายโรงงาน คือต้องมีการใช้เครื่องจักรที่มีกำลังแรงม้าและกำลังแรงม้าเปรียบเทียบรวม ตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม

ยื่นขอตรวจประเมินสถานที่ผลิต

ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตและเก็บอาหาร (ดาวน์โหลดคำขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตและเก็บอาหาร)  โดยติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา ณ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรณีสถานที่ผลิตตั้งอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดนั้นๆ และปัจจุบันสามารถยื่นคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ต (E-submission) ได้อีกด้วย

ยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร

เมื่อผ่านการตรวจประเมินสถานที่เรียบร้อย มาถึงขั้นตอนที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร จะต้องเตรียมเอกสารสำคัญดังนี้

  • คำขออนุญาตตั้งโรงงานตามแบบ อ1. จำนวน 1 ฉบับ
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาต จำนวน 1 ฉบับ
  • สำเนาใบทะเบียนการค้าหรือใบทะเบียนพาณิชย์ จำนวน 1 ฉบับ
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล จำนวน 1 ฉบับ (กรณีนิติบุคคล)
  • สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวน 1 ฉบับ (เฉพาะนิติบุคคลที่เป็นบริษัท )
  • หนังสือมอบอำนาจ (กรณีผู้ดำเนินกิจการไม่ได้มายื่นเอง)
  • แบบแปลนแผนผังที่ถูกต้องตามมาตราส่วน จำนวน 1 ชุด (กรณีสถานที่ผลิตอยู่ต่างจังหวัดจะใช้ 2 ชุด)
  • แผนที่แสดงที่ตั้งของโรงงานและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริการใกล้เคียง
  • แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณที่ดินของโรงงาน รวมทั้งระบบกําจัดนํ้าเสียและบ่อบาดาล (ถ้ามี)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานต่างๆ ได้ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัด (กรณีสถานที่ผลิตตั้งอยู่ต่างจังหวัด) หรือจะยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็ได้เช่นกัน โดยผู้ประกอบการต้องชำระค่าธรรมเนียม 2,000 บาท

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบความครบถ้วนของคำขอและเอกสารหลักฐานต่างๆ กรณีเอกสารครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะออกใบรับคำขอ และดำเนินการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตจัดตั้งโรงงานหรือไม่ แต่หากเอกสารไม่ครบถ้วน ผู้ประกอบการจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด

รับใบอนุญาตการผลิต

เมื่อพิจารณาเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะแจ้งผล หากได้รับอนุญาต จะทำการออกใบสั่งชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งมีตั้งแต่ 3,000 / 5,000 / 7,000 / 8,000 / 10,000 บาท (ขึ้นกับจำนวนแรงม้าของเครื่องจักร หรือคนงานที่เกี่ยวข้องในการผลิต) จากนั้นจะทำการส่งมอบใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป โดยใบอนุญาตผลิตอาหาร สามารถใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ 3 นับตั้งแต่ออกใบอนุญาต โดยผู้ประกอบการจะต้องแสดงใบอนุญาตผลิตอาหารไว้ในที่เปิดเผยที่สามารถมองเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตอาหารที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และต้องติดป้ายแสดงสถานที่ผลิตไว้ภายนอกสถานที่ ซึ่งต้องเป็นที่เปิดเผยและสามารถมองเห็นง่ายเช่นกัน

ขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อขอรับเลขสารบบอาหาร

แม้ผู้ประกอบการจะได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดําเนินการผลิตเพื่อจําหน่ายได้ทันที เนื่องจากต้องมีการยื่นขออนุญาตเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ก่อน โดยเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ จะหมายถึงเลข 13 หลักในกรอบเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะเป็นรหัสของข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ง่ายในการตรวจสอบย้อนกลับกรณีเกิดปัญหา

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ของตนจัดอยู่ในประเภทอาหารกลุ่มใด ซึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ได้มีการแบ่งอาหารเป็น 4 กลุ่มตามระดับความเสี่ยงที่จะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้แก่ 1.อาหารควบคุมเฉพาะ 2.อาหารที่กําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน 3.อาหารที่ต้องมีฉลาก และ 4.อาหารทั่วไป

หากผู้ประกอบการผลิตอาหารที่อยู่ใน 3 กลุ่มแรก จำเป็นต้องมีการยื่นขออนุญาตเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ โดยอาหารควบคุมเฉพาะ (ยื่นแบบ อ.17) อาหารที่กําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน (ยื่นแบบ สบ.3 หรือ สบ.5) และอาหารที่ต้องมีฉลาก (ยื่นแบบ สบ.3 หรือ สบ.5) แต่หากผู้ประกอบการผลิตอาหารทั่วไป สามารถดําเนินการผลิตได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องหลักๆ ที่ผู้ประกอบการซึ่งกำลังคิดจะเปิดโรงงานผลิตอาหารควรรู้ไว้และเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อที่จะดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้การเริ่มธุรกิจเดินไปได้อย่างไม่สะดุด