เมื่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมและกระแสการรักษ์โลกยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะจางหายไป ประกอบกับการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคสายกรีน ทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นสัญญาณส่งเสียงเรียกให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิต หันมาใส่ใจในการหาช่องทางหรือเครื่องหมายแสดงตนให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ฉลากเขียว” นั่นเอง
ฉลากเขียวคืออะไร?
ฉลากเขียว (Green Label) คือ ฉลากที่รับรองให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยคุณภาพยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่กำหนด
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หมายถึง สินค้าและบริการหลายประเภท ยกเว้นอาหาร ยา และเครื่องดื่ม เนื่องจากทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว จะเกี่ยวข้องกับสุขภาพความปลอดภัยในการบริโภคมากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การติดฉลากเขียวจะสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคได้
โดยข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ จะมีการพิจารณาและกำหนดแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้าหรือบริการ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย เรียกได้ว่าเป็นการประเมินครบทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment :LCA) ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้ และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ ตามหลัก 3R คือ การลดของเสีย (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับฉลากเขียว ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือเทียบเท่า มอก. และต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการจัดการผลิตภัณฑ์หลังการใช้ โดยจะต้องมีการควบคุมการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ข้อกำหนดฉลากเขียว รวมถึงการบริหารจัดการเศษซากวัสดุเหลือใช้จากสินค้าหรือบริการที่ได้รับฉลากเขียวนั้น จะมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก ฉนวนกันความร้อน
- ประหยัดน้ำ เช่น โถสุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ
- ไม่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย หรือมีในปริมาณที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์จากผ้า ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์
- ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น สารซักฟอก สบู่
- มีความปลอดภัยในการเข้าใช้บริการ เช่น สถานีบริการน้ำมัน และบริการรับถ่ายเอกสาร เป็นต้น
ทำไมต้องมีฉลากเขียว?
การติดฉลากเขียวบนสินค้าเป็นการสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่า สินค้าที่ได้รับการรับรองด้วยฉลากนี้ เป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนการทิ้งทำลาย ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้รับการรับรอง ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ได้จากการสังเกต “ฉลากเขียว” ที่ติดอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์นั้น
นอกจากช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ฉลากเขียวยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อสินค้าหรือบริการเหล่านี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับว่าเป็นมิตรกับสุขภาพของผู้บริโภคเช่นกัน อีกทั้งยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้ด้วย เนื่องจากเป็นสินค้าที่ช่วยให้ประหยัดน้ำและไฟฟ้า ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ ที่สำคัญ ยังช่วยให้เกิดสุขภาวะที่ดี และปลูกฝังให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ส่วนผู้ผลิตที่สนใจผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและขอฉลากเขียว จะช่วยส่งเสริมเรื่องการส่งออกได้ เพราะทั่วโลกกำลังตื่นตัวและมีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศอื่นๆก็มีการจัดทำฉลากสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน โดยอาจใช้สัญลักษณ์และชื่อเรียกแตกต่างกันไป เข่น กลุ่มสหภาพยุโรปเป็นรูปดอกไม้ ใช้ชื่อว่า “EU Flower” หรือประเทศญี่ปุ่นเป็นรูปสองแขนโอบอุ้มโลกเอาไว้ ใช้ชื่อว่า “Eco Mark” เป็นต้น
รู้แบบนี้แล้ว หากผู้ประกอบการต้องการขอใช้ “ฉลากเขียว” สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ดาวน์โหลดใบสมัครขอใช้ฉลากเขียว
ผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับการรับรองฉลากเขียว จะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้
- เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิต นำเข้า จัดจำหน่าย หรือให้บริการ และประสงค์ที่จะขอรับสิทธิการใช้เครื่องหมายฉลากเขียว
- มีเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายเป็นของตนเอง หรืออยู่ระหว่างการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ในกรณีที่เป็นตัวแทนจำหน่ายต้องยื่นหลักฐานการแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่ายจากผู้ผลิต ประกอบการยื่นสมัคร
- ต้องไม่เป็นผู้ถูกยกเลิกการใช้สัญญาและสิทธิการใช้เครื่องหมายรับรองฉลากเขียว หรือถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นระยะเวลา 6 เดือนมาแล้ว
- ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปและรูปแบบการรับรองผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ใช้ในการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
- ในกรณีของผู้นำเข้า และ/หรือผู้จัดจำหน่าย ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำเอกสารประกอบ ยื่นพร้อมกับแบบคำขอรับการรับรองฉลากเขียว เป็นภาษาไทย ดังนี้
1) นโยบายหรือหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ผลิต
2) ขั้นตอนการดำเนินงานเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์
3) ขั้นตอนการดำเนินงานเกี่ยวกับการรับประกันสินค้า/บริการ รวมทั้งการบริการหลังการขาย
4) ขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียน และการดำเนินการแก้ไขในการตอบกลับข้อร้องเรียน
โดยผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร (PDF / DOC) และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ยื่นเอกสารสมัคร
เมื่อผู้ประกอบการเตรียมเอกสารครบถ้วนตามข้อกำหนดแล้ว สามารถส่งเอกสารมาที่ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 16/151 เมืองทองธานี ถนนบอนด์สตรีท ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบ จากนั้นจะทำการยืนยันกลับต่อผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการสมัครในขั้นตอนต่อไป โดยในขั้นตอนนี้จะมีค่าธรรมเนียมการตรวจสอบและรับคำขอ หากเป็นกรณียื่นคําขอรับการรับรองผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่ที่ 5,000 บาท ต่อครั้งของการยื่นเอกสารสมัคร แต่ถ้าเป็นกรณียื่นขอขยายขอบข่ายจะอยู่ที่ 3,000 บาท ต่อครั้งของการยื่นเอกสารสมัคร
- เจ้าหน้าที่ตรวจประเมินสถานประกอบการ
ผู้ประกอบการจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อนัดเข้าตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการภายใน 30 วันหลังจากวันที่รับสมัคร หากไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำาหนด จะแจ้งขยายเวลาตามความเหมาะสม ในกรณีที่สถานประกอบการได้รับการรับรอง ISO 9001และ ISO 14001 จะได้รับการยกเว้นการตรวจประเมินสถานประกอบการในขั้นตอนการสมัคร แต่หากไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าว สถานประกอบการนั้นๆ จะต้องได้รับการตรวจประเมิน โดยเจ้าหน้าที่โครงการฉลากเขียว และจะคิดค่าธรรมเนียมการตรวจประเมินโรงงานในอัตรา 15,000 บาท ต่อครั้ง/วัน
- ชำระค่าธรรมเนียม
กรณีที่ผลการพิจารณาเป็นไปตามเกณฑ์ของข้อกำหนดฉลากเขียว เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้การรับรองฉลากเขียวกับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งส่งเอกสารยืนยันข้อมูล โดยผู้ประกอบการจะต้องตอบกลับเอกสารการยืนยันข้อมูลมายังเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดทำรายงานสรุปผลด้านเทคนิคในการให้การรับรองฉลากเขียว เพื่อให้ประธานคณะอนุกรรมการรับรองฉลากเขียวลงนาม และจะออกจดหมายแจ้งผลการรับรองฉลากเขียว พร้อมทั้งรายละเอียดการชำระค่าธรรมเนียมไปยังผู้ได้รับการรับรอง
ทั้งนี้ ใบรับรองการใช้ฉลากเขียวจะมีอายุสัญญา 3 ปี โดยผู้ได้รับสิทธิ์สามารถเลือกวิธีการชําระค่าธรรมเนียมการใช้เครื่องหมายรับรองฉลากเขียวได้ ดังนี้
- ชําระครั้งเดียว 3 ปี การคิดค่าธรรมเนียมจะคิดในอัตรา 80,000 บาทต่อ 3 ปี/เครื่องหมายการค้า/รุ่น*
- แบ่งชําระเป็นรายปี การคิดค่าธรรมเนียมจะคิดเท่ากันทุกปีในอัตรา 40,000 บาทต่อปี/เครื่องหมายการค้า/รุ่น*
ผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องชำระค่าธรรมเนียมในแต่ละปีให้แล้วเสร็จก่อนวันครบกําหนดชําระเงิน ในกรณีไม่ได้ทำการชำระเงินเข้ามาในเวลาที่กำหนดจะถือว่าอายุสัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ครบกําหนด
- ตรวจติดตามผล
หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองเป็นระยะเวลา 1 ปี เจ้าหน้าที่โครงการฉลากเขียวจะดําเนินการตรวจติดตามผล (Surveillance) ณ สถานประกอบการของผู้ที่ได้รับการรับรอง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองให้ใช้เครื่องหมายฉลากเขียวยังมีความสอดคล้องเป็นไปตามข้อกําหนดฉลากเขียว โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสําหรับการตรวจติดตามผล ในขณะที่สถานประกอบการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมสิ่งอํานวยความสะดวกที่จำเป็นสําหรับการตรวจประเมิน เช่น รถรับ-ส่ง อาหาร และที่พักสําหรับคณะผู้ประเมิน ทั้งนี้ รวมถึงการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากกระบวนการตรวจติดตามผล เช่น การส่งตัวอย่างเพื่อทดสอบ เป็นต้น