อีกหนึ่งเรื่องคาใจที่ผู้ประกอบการหลายรายมักตั้งคำถามในการทำธุรกิจ คงหนีไม่พ้นประเด็นของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ การจด VAT (Value Added Tax) ว่า จดดีหรือไม่? กฎหมายบังคับหรือเปล่า? หรือถ้าอยากจดต้องทำอย่างไร และเมื่อไรดี?
ที่จริงการจดทะเบียนภาษีประเภทนี้ มีข้อดีที่สามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ เพราะได้รับการตรวจสอบจากกรมสรรพากร แถมยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า เนื่องจากลูกค้าหรือคู่ค้ามักขอใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ทำการซื้อขายสินค้าและบริการ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีนั่นเอง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือกล่าวง่ายๆ คือ เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการบริโภคสินค้าและบริการของประชาชน ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7
ใครบ้าง? ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ เกินกว่า 8 ล้านบาทต่อปี ส่วนกิจการที่ยังมีรายรับไม่ถึงตามที่กำหนด แต่ต้องการจะยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อป้องกันปัญหาการจดทะเบียนล่าช้า ก็สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ
- ผู้ที่เตรียมการจะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการที่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นก่อสร้างโรงงาน ก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือติดตั้งเครื่องจักร ฯลฯ สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ภายใน 6 เดือน ก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ
- ตัวแทนขายสินค้าหรือบริการ ของผู้ประกอบกิจการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งตัวแทนขายสินค้าดังกล่าวจะต้องทำหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ มีกิจการบางประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กิจการค้าพืชผลทางการเกษตร ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ตำราเรียน ฯลฯ แต่ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวจะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
การจัดเตรียมเอกสารประกอบการจดทะเบียน
สำหรับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ประกอบด้วย
- หลักฐานที่ตั้งสถานประกอบการ
- แผนที่พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการที่เห็นบ้านเลขที่
- หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ สำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
- กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว ต้องแนบเอกสารเพิ่ม ได้แก่ ภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
- สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์
- ภาพถ่ายหนังสือการจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมวัตถุประสงค์
- ภาพถ่ายเอกสารการดำเนินกิจการร่วมค้า (ถ้ามี)
- หลักฐานแสดงฐานะนิติบุคคล
- ภาพถ่ายหนังสือตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษร
ยื่นคำขอจดทะเบียน
ผู้ประกอบการสามารถยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แบบ ภ.พ.01 พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
- ทางอินเตอร์เน็ตที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร
- ณ สรรพากรพื้นที่ตั้งสถานประกอบการ ทั้งใน กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค
กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว
ออก “ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม”
เมื่อกรมสรรพากรได้รับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว จะมีการออก “ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” (แบบ ภ.พ.20) ซึ่งจะมีผลให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป
ข้อควรรู้! ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ในอัตราร้อยละ 7 ของราคาสินค้าและบริการ และออกใบกำกับภาษี เพื่อเป็นหลักฐาน
- จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ.30 เป็นรายเดือนทุกเดือนภาษี ไม่ว่าจะมีการขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม โดยให้ยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งผลของการยื่นแบบจะมีทั้งการได้รับเงินคืน หรือชำระเพิ่ม หรือเสมอตัวแล้วแต่กรณี
เพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการก็สามารถออกใบกำกับภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่คู่ค้าและลูกค้าที่ติดต่อซื้อขายกันได้อย่างสบายใจ