เริ่มต้นธุรกิจฟาร์มผักแบบ Smart Farm

ยุคนี้จะเห็นได้ว่า มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำธุรกิจการเกษตรแบบสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Smart Farm เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะด้วยแนวคิดของ Smart Farm ซึ่งจะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ระบบเซ็นเซอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ มาประยุกต์เข้ากับงานด้านการเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพิ่มคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้า รวมไปถึงลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ การทำ Smart Farm จึงมีความแตกต่างจากวิถีเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก มาสู่ การทำการเกษตรแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการ ตรวจสอบสภาพแวดล้อมเพื่อบริหารจัดการการผลิต การควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ผลผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ส่งผลให้ขายได้ราคาดีขึ้น และยังลดความสูญเสียได้อีกด้วย

ดังนั้น ใครที่กำลังคิดอยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจ Smart Farm โดยเฉพาะการทำฟาร์มผัก สิ่งเหล่านี้ คือเรื่องที่ควรรู้และควรเตรียมพร้อม!!

จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ

การทำธุรกิจฟาร์มผักแบบ Smart Farm นั้น ในการเริ่มต้นไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่นๆ โดยสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำ นั่นคือ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ หรือการจดทะเบียนพาณิชย์ อย่างที่หลายคนทราบกันดี ว่า สามารถจดได้ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (คลิก! ดาวน์โหลดเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์) หรือดูข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่เริ่มประกอบการ  โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด

จัดเตรียมโรงเรือนสำหรับปลูก

สิ่งต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง คือ พื้นที่ในการทำฟาร์มผัก ยุคนี้จะเห็นว่าคนนิยมเพาะปลูกผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกส์ หรือผักปลอดสารพิษมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และมีมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าผักทั่วไป ดังนั้น การปลูกผักในโรงเรือน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการ เพราะมีข้อดี คือ สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ความร้อน ความชื้น ฯลฯ การบริหารจัดการปัจจัยภายใน ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ปรับอุณหภูมิ ฯลฯ รวมถึงการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานของผลผลิต ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการระบาดของศัตรูพืชต่างๆ ได้อีกด้วย

สำหรับโรงเรือน มีความหลากหลายทั้งในเรื่องขนาด รูปแบบ รวมถึงคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ การเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของพืชที่จะปลูก ขนาดของพื้นที่ และที่สำคัญคืองบประมาณของผู้ประกอบการ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม Farming 4.0 มิติใหม่การเกษตรไทย)

วางระบบเทคโนโลยีให้พร้อม

หัวใจสำคัญของการทำ Smart Farm คือ การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องศึกษาและเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำสำหรับการรดน้ำผัก ที่สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังช่วยควบคุมปริมาณการรดน้ำตามความต้องการของผักแต่ละชนิด หรือจะเป็น ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ หากอุณหภูมิสูงเกินกำหนด ระบบจะทำการสั่งเปิดน้ำ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิลง หรือการตรวจวัดความชื้นในดิน หากระบบพบว่าความชื้นในดินต่ำกว่าที่กำหนด ก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติเช่นกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ เทคโนโลยียังสามารถวิเคราะห์ ประมวลผลออกมาเป็นข้อมูล (Data) ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้วางแผนการปลูกผักให้ได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น ที่สำคัญจะช่วยลดการใช้แรงงานคน และยังช่วยให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนทางธุรกิจได้มีประสิทธิภาพอีกด้วย

ขอรับรองมาตรฐาน

นอกจากระบบโรงเรือนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกิจปลูกผักนี้แล้ว สิ่งที่มีความสำคัญ และสร้างความแตกต่างให้กับสินค้ารวมถึงช่องทางการตลาด อยู่ที่มาตรฐานของผลผลิต เนื่องจากปัจจุบันเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการต้องวางแผนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการ เพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายรับรองของมาตรฐานนั้นๆ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการขยายตลาดอีกด้วย

สำหรับสินค้าทางการเกษตร สามารถรับรองมาตรฐานได้หลากหลายมาตรฐาน อาทิ เครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพหรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้าเกษตร ว่าได้มาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยนั่นเอง และการจะได้เครื่องหมาย Q มานั้น จะต้องผ่านมาตรฐานตามการรับรองอื่นๆ มาก่อน อย่างเช่น การปฏิบัติตามาตรฐานทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice ; GAP) การรับรองมาตรฐาน GMP  , HACCP และเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

จะเห็นแล้วว่า การทำธุรกิจเกษตรในยุคนี้สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก ที่สำคัญไม่ต้องมีคนมาก ขอแค่ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพ ก็สามารถพลิกโฉมธุรกิจเกษตรเดิมๆ ให้กลายเป็น Smart Farm ได้แล้ว