3 ขั้นตอนขอประเมินความปลอดภัย “อาหารใหม่”

เมื่อความก้าวหน้าในวิธีการและกระบวนการผลิตใหม่ๆ แผ่ขยายไปทุกวงการ… “อาหาร” ถือเป็นหนึ่งในนั้น หากลองมองไปรอบๆ ตัว จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีการนําวัตถุที่ไม่เคยบริโภคมาใช้เป็นอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน ส่งผลให้เรื่องของความปลอดภัยในการบริโภคอาหารนั้นๆ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงหรือให้ความสำคัญ

และเพื่อเป็นการรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ที่ผลิตและนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงคุ้มครองและสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคในประเทศ “อาหารใหม่” จึงต้องได้รับการประเมินมาตรฐานความปลอดภัย

 

อาหารใหม่คืออะไร?

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 376 พ.ศ. 2559  ได้ให้คำนิยามหรือความหมายของ “อาหารใหม่ (Novel Food)” หมายถึง

  1. วัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี หรือ
  2. วัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทําให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสําคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (Level of Undesirable Substances)
  3. ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุ (1) หรือ (2) เป็นส่วนประกอบ

ทั้งนี้ จะไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร และอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms: GMOs)

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบง่ายๆ อาหารใหม่ จะมีลักษณะเช่น ส่วนของพืชที่ปกติไม่ได้บริโภคเป็นอาหารหรือนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น ใบโสม อาหารที่ผลิตโดยใช้นาโนเทคโนโลยี หรือ อาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากพืชและมีประวัติการบริโภคน้อยกว่า 15 ปี เช่น สารสกัดจากผักบุ้ง น้ำพริกกะปิผง เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสายก้าวหน้าและไม่หยุดนิ่งทั้งหลาย หากมีการนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่เหมือนใครและเข้าข่ายนิยามที่ว่ามานี้ ตามประกาศฯ ดังกล่าวกำหนดให้อาหารใหม่ หรือส่วนประกอบของอาหารใหม่ หรือกรรมวิธีผลิตอาหารใหม่ หรืออาหารที่ยังไม่ได้กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัย เพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยสามารถยื่นขอประเมินความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้ ดังนี้

  1. ดาวน์โหลดใบคําขอประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ (Novel Food)

ผู้ยื่นคำขอสามารถดาวน์โหลด ใบคำขอประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ (Novel Food) และ แบบตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น (Checklist) ประกอบการพิจารณาประเมินความปลอดภัยของอาหาร ได้ที่ เว็บไซต์สถาบันอาหาร

โดยต้องจัดเรียงเอกสารตามแบบตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น (Checklist) ประกอบการพิจารณาประเมินความปลอดภัยของอาหาร พร้อมหลักฐานประกอบให้ครบถ้วน ถูกต้อง และให้เจ้าของกิจการ หรือผู้ดำเนินกิจการ หรือกรรมการที่มีอำนาจลงนามตามหนังสือรับรองของนิติบุคคลเป็นผู้ลงนามในแบบคำขอ กรณีไม่ใช่ผู้ดำเนินกิจการหรือกรรมการผู้มีอำนาจของนิติบุคคลให้มีหนังสือมอบอำนาจเป็นผู้ดำเนินการแทนแนบด้วย

ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอต้องสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ยื่นคำขอได้ และมีอำนาจตัดสินใจ รวมถึงลงนามรับทราบข้อบกพร่องได้ (กรณีไม่ใช่ผู้ดำเนินกิจการหรือกรรมการผู้มีอำนาจของนิติบุคคล ให้มีหนังสือมอบอำนาจเป็นผู้ดำเนินการแทนแนบด้วย)

สำหรับเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขออื่นๆ ประกอบด้วย

  • สําเนาบัตรประชาชน หรือสําเนาหนังสือเดินทางของผู้ยื่นคําขอและผู้มอบอํานาจ (กรณีมอบอํานาจ)
  • สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ หรือสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่แจ้งวัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
  • สําเนาหนังสือมอบอํานาจจากผู้ดําเนินกิจการ (กรณีมอบอํานาจ)
  • ผลการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • ซีดีรอม (CD-ROM) ที่บรรจุข้อมูลของเอกสารและหลักฐานประกอบการพิจารณาประเมินความปลอดภัย

  1. ยื่นใบคำขอ

ดำเนินการยื่นใบคําขอและเอกสารหลักฐานด้วยตัวเอง หรือผ่านตัวแทนได้ที่สถาบันอาหาร เลขที่ 2008 ซอยอรุณอมรินทร์ 36 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยทางสถาบันอาหาร จะพิจารณาหลักฐาน และแจ้งผลการตรวจสอบเอกสารภายใน 3 วันทําการ ตามช่องทางที่ผู้ยื่นคำขอแจ้งไว้

ทั้งนี้ สถาบันอาหาร จะพิจารณาไม่รับคําขอฯ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พบว่าไม่เพียงพอต่อการประเมิน หรือไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ หรือไม่สอดคล้องตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคู่มือสําหรับประชาชน

  1. ชำระค่าธรรมเนียม

ผู้ยื่นคำขอฯ ต้องชําระค่าธรรมเนียมในการให้บริการร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และชําระส่วนที่เหลือ เมื่อได้รับรายงานผลการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับบริการ

อัตราค่าธรรมเนียมในการบริการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ อยู่ที่สูตรละ 69,000 บาท โดยสูตรนั้นมีส่วนประกอบที่ต้องประเมิน 1 ชนิด กรณีที่มากกว่า 1 ชนิด คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มชนิดละ 20,000 บาท กรณีต้องการข้อมูลประกอบการประเมินฯ เพิ่มเติม หากประสงค์ให้สถาบันอาหารดําเนินการหาเอกสารให้ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกรณีละ 5,000 บาท เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับจํานวนเอกสารที่ต้องการเพิ่ม

โดยสามารถชำระเงินผ่านเช็ค สั่งจ่าย “อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร” หรือ โอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาพระปิ่นเกล้า บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 031-1-52938-0 ชื่อบัญชี “อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร”

หลังจากประเมินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ยื่นสามารถเข้ารับคำปรึกษากับ สถาบันอาหาร ได้ ในกรณีเกิดปัญหาหรือข้อสงสัยในการประเมินผลเรื่องนั้นๆ โดยผลการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับบริการ ใช้เป็นเพียงหลักฐานส่วนหนึ่งประกอบการขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ ตามกระบวนงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี ในการขอรับการประเมินด้านความปลอดภัยสำหรับอาหารใหม่ นอกจากสถาบันอาหารแล้ว ยังมีหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แก่ สำนักงานคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ใกล้ที่ไหนไปที่นั่นได้เลย

เท่านี้ผู้ประกอบการก็มั่นใจได้ว่าอาหารใหม่ที่ผลิตขึ้น จะได้มาตรฐานที่ผ่านการรับรอง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยได้