ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สินค้าภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า 70 % เมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกทั้งหมด ทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม โดยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนเป็นฐานอันมั่นคงของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดและหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมสนับสนุนก็คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs
SMEs ของไทย ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามทิศทางการพัฒนาประเทศและกระแสเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและพัฒนา SMEs ของไทยอย่างจริงจังเพื่อให้ SMEs ของไทยมีความแข็งแกร่งมั่นคงและพร้อมรับมือกับปัญหาและความท้าทายทุกรูปแบบ
ความเป็นมาของ SMEs ไทยและสถานภาพในปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมาประเทศไทยได้รับการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ประกอบกับมีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard)และมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีการเข้ามาของอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ มีผลทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมสนับสนุนและธุรกิจ SMEs เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญ มีการโยกย้ายของแรงงานจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับตรงกันว่า SMEs มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทำให้เกิดการสร้างงานและการกระจายรายได้เป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ที่สำคัญคือ SMEs ไทยเป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงที่สุดเมื่อเทียบอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่ต้องมีต้นทุนการผลิตในด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตรวมทั้งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ SMEs ทำให้เกิดการพัฒนาไปตามชุมชนในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศนับเป็นการส่งเสริมการกระจายความเจริญไปสู่ชุมชนต่างๆทั่วประเทศ จากรายงานล่าสุดของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่าประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จำนวน 2.9 ล้านรายทั่วประเทศหรือคิดเป็นสัดส่วน 99 เปอร์เซ็นต์ ของวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงาน 9.7 ล้านคน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศถึง 3.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37.2 ของ GDP ของประเทศ และมีมูลค่าด้านการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 1.59 ล้าน ล้านบาท
ปัญหาและอุปสรรคของ SME ไทย
จากเดิมที่ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการพัฒนาโครงสร้างที่เป็นพื้นฐานเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้ภาคการผลิตของไทยมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัย มีต้นทุนสูง การเติบโตของ SMEs ไทยในระยะแรกๆ จึงอาศัยแรงงานที่มีราคาถูกและพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ท่ามกลางการแข่งขันที่ยังไม่สูงนัก เมื่อมองในเชิงโครงสร้างแล้วพบว่า การพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม มีปัญหาในระดับนโยบายได้แก่ การขาดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ขาดการบริหาร กำกับดูแลและรับผิดชอบที่เป็นเอกภาพจากหน่วยงานรัฐ ขาดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง ขาดความคิดสร้างสรรค์ การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทหรือองค์กร แต่เมื่อมองในแต่ละหัวข้อของปัญหาที่ SMEs ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ สามารถแยกเป็นปัญหาด้านต่างๆ ได้แก่ ปัญหาแรงงานไร้ทักษะ ผู้ผลิตขาดการพัฒนาตราสินค้าของตนเอง ผู้ประกอบการขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ ขาดความรู้และข้อมูลการตลาด ผลิตภาพและประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ขาดการเข้าถึงการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ผลกระทบของ AEC ต่อ SMEs ไทย
การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งในภาคการผลิตและการบริการ การรวมกันเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกันของ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีการดำเนินธุรกิจและในด้านการแข่งขันทางการค้า การมีตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีประชากรมากถึง 600 ล้านคน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อม ในขณะเดียวกันก็จะกลายเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการทำธุรกิจสำหรับผู้ที่ขาดความสามารถในการแข่งขันโดยทั่วไป AEC จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 5 ด้าน คือ ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้หลัก National treatment การเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในอาเซียนอย่างเสรี การลดภาษีและขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การเคลื่อนย้ายบุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานฝีมือภายในอาเซียนและสุดท้าย การเปิดเสรีด้านภาคการบริการใน 4 สาขา คือ การท่องเที่ยว บริการสุขภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการขนส่งทางอากาศปัญหา AEC สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทยในขณะนี้ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ ภายใต้ AEC ทั้งความรู้ในภาพกว้างและความเข้าใจในเชิงลึกถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจของตนเอง การศึกษาโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดกับ SMEs ในสาขาต่างๆ โดยมุ่งเน้นสาขาที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจบริการ ซึ่งข้อตกลงภายใต้ AEC จะมีการเปิดเสรีในระดับที่สูงมากและมีโอกาสที่การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น การสนับสนุนให้ SMEs สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงได้มากขึ้น ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายแหล่งกำเนิดสินค้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ไทยได้เป็นอย่างดี
ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มการย้ายฐานผลิตของ SMEs ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกมาตลอด โดยอาศัยอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นกําลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายอย่างมากทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก เช่น ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาด้านพลังงานและประชากรส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุ ส่งผลต่อให้เศรษฐกิจของประเทศขาดการขยายตัวและคาดว่าปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในอนาคตถึงแม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นเองจะประสบปัญหา แต่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะในอาเซียน โดยข้อมูลจากรายงานองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ หรือ JETRO ที่สำรวจในปี 2554 จำนวนนักลงทุนชาวญี่ปุ่น (เฉพาะที่ลงทะเบียนกับ JETRO) ในประเทศไทยจำนวน 1,337 ราย จากทั้งหมดในอาเซียน 4,944 คิดเป็นร้อยละ 27 รองลงมา คือ ประเทศเวียดนาม การลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตจะมีความแตกต่างไปจากที่ผ่านมา คือ จะเป็นการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นทั้งในเรื่องเงินทุนและการดำเนินงาน แม้ว่าจำนวนเม็ดเงินการลงทุนของแต่ละรายจะไม่สูงมากเช่นแต่ก่อน แต่สิ่งที่นักลงทุนเหล่านี้มีและเป็นข้อได้เปรียบ คือ เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ ซึ่งสิ่งเหล่าจะเข้ามาเสริมจุดด้อยของ SMEs ไทย แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องตระหนักและให้ความสำคัญนั้น คือ เรื่องภาษาและวัฒนธรรมการทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นขนาดเล็กมักจะมีการทำงานที่ยังคงยึดมั่นในค่านิยมของตน เช่น การทำงานหนักและทุ่มเทการรักษาคำมั่นสัญญา ระบบอาวุโส และความจงรักภักดีต่อองค์กร ส่วนจุดอ่อนของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก คือ ขาดความชำนาญในเรื่องการบริหารจัดการที่ทันสมัยและความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ
สร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้ SMEs ไทย
มาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ด้านนโยบายโดยรัฐบาลและมาตรการจากหน่วยงานภาครัฐ สำหรับนโยบายโดยรัฐบาล ขณะนี้มีแผนงานที่ออกโดยทางภาครัฐ 2 แผน นั่นคือ หนึ่ง แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2555-2559) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตอย่างสมดุลตามศักยภาพและ เสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่วนที่สอง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่11 พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งกล่าวถึงการสร้างความเข้มแข็งของสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมสำหรับมาตรการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วยมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้านการจัดการ บุคลากรและผู้ประกอบการ มาตรการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี มาตรการด้านการตลาดและการส่งออกและมาตรการด้านการเงิน โดยมีหน่วยงานสำคัญที่เป็นกำลังหลัก เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นต้น สำหรับความช่วยเหลือที่สำคัญของภาคเอกชนต่อ SMEs ได้แก่ มาตรการความช่วยเหลือทางการเงินจากการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างสภาหอการค้าไทยฯ สภาอุตสาหกรรมฯและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) ช่วยเหลือSMEs ที่อยู่ในสังกัดของ 3 สภานี้ ซึ่งมีจำนวนกว่า 90,000 ราย ให้สามารถกู้เงินได้ในลักษณะ Need-based solution ความช่วยเหลืออีกด้านจากภาคเอกชน คือ การฝึกอบรมก็มีบริษัทเอกชนต่างๆในหลายอุตสาหกรรม เช่น บริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัดและบริษัท สุมิพล จำกัด ฯลฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ได้แก่บุคลากรภาคอุตสาหกรรมในหลักสูตรต่างมาอย่างต่อเนื่อง สรุปแม้ SMEs ของไทยจะมีความแข็งแกร่งมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสแซงหน้าประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องร่วมกันสร้างความพร้อมในทุกๆ ด้านที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศ ขณะที่ AEC กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาค SMEs ที่จะได้ปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจของตน ให้มีความพร้อมที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงและก้าวเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้อย่างแข็งขัน ทั้งเชิงรุกและรับ เพื่อให้ SMEs ไทย สามารถใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพปัจจุบัน SMEs ได้กลายเป็นหน่วยธุรกิจที่เชื่อมประสานระหว่างเศรษฐกิจระดับมหภาคและจุลภาค เปรียบเสมือนเหมือนกระดูกสันหลังที่เป็นจุดศูนย์รวมระบบประสาททั้งหมดของร่างกาย เศรษฐกิจของประเทศจะมีความเจริญมั่นคงอย่างยั่งยืนได้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs จะต้องได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี
Download PDF : SMEs The Real Backbone of Thai Economy
Reference : Blue Update Edition 10